วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

น้ำท่วม....เมืองไทย...คนไทยเท่าเทียมกันหรือป่าว....


.....สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย.........ทำให้เรามองเห็นบางมุมของคนไทย......  คำถาม.......ว่า..คนไทยเท่าเทียมกันหรือป่าว.....


จากเหตุการณ์ความวิกฤติ  ความรุนแรง ของปัญหาอุทกภัย  น้ำท่วมประเทศไทยในปี 2554 ซึ่งแพร่กระจายความเดือดร้อนไปทั่วทั่งประเทศ  ทั้งปัญหาของอุทกภัยที่เกิดขึ้น ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การขนส่ง  การเดินทาง  และการท่องเที่ยว  และที่สำคัญ ประชาชนทุกระดับชั้น  หลายแสนล้านคน  ได้รับความเดือดร้อนในครั้งนี้
..........
แต่กระนั้นก็ตามที....หลังเกิดปัญหาน้ำท่วม  ประขาชนคนไทย ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินแห่งนี้ ก็มิได้แล้งน้ำใจในการหยิบยื่นความช่วยเหลือ  ให้กับคนไทยด้วยกันที่ประสบปัญหา  และได้รับความเดือดร้อนในครั้งนี้  ทั้งการบริจาคเงิน  ทรัพย์สิน  อาหาร  เครื่องอุปโภค  บริโภค  
ผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง...ทั้งภาครัฐ  และเอกชน
.............
น้ำท่วม...ที่เกิดขึ้น  ตั้งแต่ ภาคเหนือ  ลงมาภาคกลาง  และที่หนักสุด  ตามที่สื่อได้นำเสนอคือปัญหาของคนเมืองกรุง ..."กรุงเทพมหานคร" ในรอบ 50 กว่าปี ที่เพิ่งจะเกิดความลำบากจากภัยธรรมชาติแค่ครั้งเดียว..
...........
สื่่อมวลชน  มีช่องทางในการนำเสนอที่ง่าย  สู่สายตาประชาชน ทั่งประเทศ  และเป็นไปตามทิศทางที่ตนเองอยากนำเสนอ   ภาครัฐ จึงเป็นผู้ที่ต้องทำงาน  ตามที่สื่อได้นำเสนอไป  เนื่องจากระบบราชการไทย  ก็รู้ ๆ กันอยู่  ความล่าช้า การอนุมัติ การตรวจสอบ ขั้นตอนกระบวนการ  กว่าจะได้รับความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผู้ที่เดือดร้อน ก็เข้าขั้นวิกฤติแล้ว...
..........
ปัญหาน้ำท่วม...ใน กทม.ถูกสื่อนำเสนอเป็นเรื่องราวใหญ่โต  บนหน้าจอทีวี  หนังสือพิมพ์ตีแผ่ ความเดือดร้อน  และปัญหาที่เกิดขึ้น  ติดต่อกันนานเกือบ 2 เดือน  ตั้งแต่เกิดเหตุน้ำท่วม  จนกระทั่ง  การหยิบยื่นความช่วยเหลือ  การรับสิ่งของบริจาค  จากคนไทย  ที่อยู่ในแต่ละภูมิภาค ยังมีน้ำใจ  บริจาคเงิน  ส่งสิ่งของ  อาหาร  ไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนในเมืองกรุง   เมืองหลวงของประเทศไทย  นี้ยังไม่รวมถึงการนำเสนอถึงการฟื้นฟู ชีวิต เศรษฐกิจ หมู่บ้าน  การฟื้นฟูบ้านเมือง ที่อยู่อาศัย  ของคนเมืองกรุงอีกเดือนกว่า ๆ จนกว่าจะกลับเข้าสู่สภาพปกติดังเดิม
.........
แต่...ขณะเดียวกัน  ปัญหาอุทกภัย  น้ำท่วม ดินถล่ม  ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้  ความเดือดร้อนของประชาชน  ที่อาศัยอยู่  และต้องเจอกับปัญหาอุทกภัย แบบนี้เกือบทุกปี  เพียงแต่  ปัญหาที่เกิดขึ้นจะมากหรือน้อย  กลับถูกนำเสนอไม่ยืดยาว  ความช่วยเหลือ กว่าจะมาถึง ก็ยากลำบาก  แม้ที่ผ่านมา  จะมีการช่วยเหลืออยู่เยอะ ก็ตามที  แต่มันก็ไม่เท่ากับการช่วยเหลือ คนในเมืองกรุง  ที่แทบจะเข้าไปทุกซอกทุกมุม  คนโน้นคนนี้  คนเด่นคนดัง  คนอยากได้หน้าได้ตา  ก็ช่วยเหลือผ่านสื่อ  ถือเป็นโอกาสทอง ที่แสนจะหายาก  ในยามบ้านเมืองปกติ....
...........
ยิ่งคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  เหมือนถูกแบ่งแยกดินแดน ไปโดยปริยาย  โดยคนไทยด้วยกันเอง  คนที่ได้รับความเดือดร้อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับหมื่น นับแสนคน  ก็เป็นคนไทย ที่รอความช่วยเหลือ  รอกำลังใจ  จากคนไทยด้วยกัน  แต่มันติดตรงที่  คนที่นี้ไม่ใช่ "คนกรุงเทพฯ" 
........
เป็นข่าว ไม่นานคนก็ลืม  แต่ความเท่าเทียมกันของคนไทย  วัดกันที่ตรงไหน   รอดูการให้ความช่วยเหลือ  พี่น้องประชาชนในพื้นที่  กับปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง  ว่ามันต่างจาก  ที่เราเห็นมาเกือบ 2 เดือนหรือป่าว.....

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อส.รามัน เหยียบกับระเบิด ภายในสวนของตัวเองเสียชีวิตคาที่


คนร้ายลอบวางระเบิด อส.รามัน จ.ยะลา ขณะเดินทางไปทำสวน เสียชีวิตคาสวนกล้วย 
            
             เมื่อวันที่ 21 พย.54 เวลา 10.30 น. ศูนย์วิทยุ สภ.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา ได้รับแจ้งว่า เกิดเหตุระเบิดขึ้นภายในสวนกล้วยที่หมู่ 3 ต.ปะลาแน ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา มีผู้เสียชีวิต จึงได้แจ้ง พ.ต.ท.จีระศักดิ์  วิกรัยเจริญยิ่ง  สารวัตรหัวหน้า สภ.ท่าธง พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่จากศูนย์พิสูจน์หลักฐานที่ 10 รุดไปตรวจสอบทันที
            เมื่อมาถึงจุดเกิดเหตุ ซึ่งเป็นสวนกล้วยและมีขนำอยู่ห่างจากถนนสายวังพญา-ท่าธง ประมาณ 30 เมตร เจ้าหน้าที่พบศพนายยะโก๊ะ  ยาโง๊ะ  อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 31/2 หมู่ 7 ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา  นอนเสียชีวิตอยู่ที่บริเวณหน้าขนำ โดยข้าง ๆ ศพพบหลุมที่เกิดจากแรงระเบิด นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังพบเศษกล่องเหล็ก สายไฟ และเศษแบตเตอรี่ ตกอยู่ จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน  เบื้องต้นเชื่อว่าเป็นระเบิดชนิดแสวงเครื่องบรรจุในกล่องเหล็กน้ำหนักประมาณ 5 กก. จุดชนวนด้วยระบบเหยียบ

            

จากการสอบสวนทราบว่าในขณะที่นายยะโก๊ะ  ยาโง๊ะ  ซึ่งเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดนอำเภอรามัน  เดินทางมาทำสวน ของตนเองที่จุดเกิดเหตุ  ได้เดินไปเหยียบระเบิดที่คนร้ายนำมาฝังไว้ใต้ดิน จนเกิดระเบิดขึ้นทำให้นายยะโก๊ะ  เสียชีวิตดังกล่าว  เบื้องต้นเจ้าหน้าที่เชื่อเป็นฝีมือของกลุ่มคนร้าย ต้องการสร้างสถานการณ์ในที่พื้นที่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากที่ผ่านมา นายยะโก๊ะ  เคยถูกกลุ่มคนร้ายลอบยิงมาแล้ว 2 ครั้ง และลอบวางระเบิดอีก 2 ครั้ง  แต่ก็รอดมาได้  จนมาประสบเหตุครั้งนี้ทำให้เสียชีวิต/.



วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ครูใต้...ระบุ...จนท.รัฐปัดความรับผิดชอบ จนครูถูกลอบทำร้าย

           ครูใต้..ระบุ..เคยขอกำลังทหารเข้าไปดูแลความปลอดภัย แต่ได้รับคำตอบว่า....กำลังมีไม่เพียงพอ....จนทำให้ครูถูกลอบทำร้ายด้วย   กลุ่มคนร้ายที่แต่งกายคลายทหาร


             ........เมื่อวันที่ 17 พย.54 เวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่พยาบาลจากโรงพยาบาลรือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส  ได้นำตัวนายสิทธิชัย  วรรณจิตรจรูญ  อายุ 56 ปี ผอ.ร.ร.บ้านละหาร   นางวิมลรัตน์ พรหมทองรักษ์  นางมยุรี กสิวุธ และนางสหวรรณ  วรรณจิตรจรูญ  ครูโรงเรียนบ้านละหาร ส่งมายังโรงพยาบาลยะลา โดยทั้ง 4 รายได้รับบาดเจ็บจากเหตุคนร้ายซุ่มยิง โดยเหตุเกิด ที่บริเวณ หมู่ ที่ 1 ต.รือเสาะออก  อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อเวลา 15.30 น.ที่ผ่านมา   โดยนายสิทธิชัย  วรรณจิตรจรูญ  อายุ 56 ปี ผอ.ร.ร.บ้านละหาร   ถูกยิงเข้าที่แขนขวา แพทย์ต้องทำการผ่าตัดเอากระสุนออก   นางวิมลรัตน์ พรหมทองรักษ์  นางมยุรี กสิวุธ และนางสหวรรณ  วรรณจิตรจรูญ  ถูกกระสุนเข้าที่แขน  ลำตัว  ซึ่งล่าสุดแพทย์ต้องนำตัวทั้งหมดเข้าห้องผ่าตัด


จากการสอบถามนางถวิล จันทร์ดวล ครู ร.ร.บ้านละหาร ซึ่งนั่งมาในรถ ขณะถูกซุ่มยิง แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า  ขณะที่ ผอ.โรงเรียน และครู รวมทั้งตน นั่งอยู่ในรถยนต์เก๋งคันแรก มี ผอ.เป็นคนขับ รวม 4 คน และอีกคันหนึ่ง เป็นรถยนต์กระบะ มีนางสหวรรณ  วรรณจิตรจรูญ  บุตรสาวของ ผอ.เป็นคนขับ โดยมีครูนั่งอยู่รวม 10 คน  เพื่อจะเดินทางกลับหลังเลิกเรียน   เมื่อขับมาถึงที่เกิดเหตุได้เห็นคนร้าย ประมาณ 4-5 คน ดักซุ่มอยู่ข้างทาง  โดยทั้งหมดแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ทหาร   และกลุ่มคนร้ายดังกล่าว ก็กราดยิงเข้าใส่รถ ทั้ง 2 คัน ทันที จนทั้งหมดได้รับบาดเจ็บ


นางถวิล  ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ปกติแล้วครูที่โรงเรียนบ้านละหาร มีจำนวน 14 คน ก็จะเดินทางกลับบ้านพร้อมกัน ออกจากโรงเรียนช่วงเวลา 15.20 น.เป็นประจำ  โดยไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารดูแลความปลอดภัยให้ตั้งแต่ช่วงเปิดเทอมมาแล้ว  เมื่อก่อนนี้ยังมีทหารพรานช่วยดูแลความปลอดภัย แต่เมื่อถอนกำลังทหารออกก็ไม่มีใครมาดูแลความปลอดภัยให้  ที่ผ่านมาทาง ผอ.ร.ร. ได้เข้าประขุมและร้องขอกำลังให้ช่วยดูแล รปภ.แล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการเหลียวแล จนกระทั่งมาเกิดเหตุคนร้ายดักซุ่มยิงดังกล่าว

   หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า  ค่ายสิรินธร  ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พลตรีสุภัช  วิชิตการ  รองแม่ทัพภาค 4  ซึ่งดูแลงานด้านความมั่นคง  ได้เชิญผู้อำนวยการสำนักงานเขตการศึกษาประถมศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนจากสมาพันธ์ครู 3 จังหวัด  เข้าประชุมร่วมกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ เพื่อหารือพูดคุยถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยครูในพื้นที่  และรับฟังปัญหาในการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งร่วมกันหารือในการปรับเปลี่ยนมาตรการในการดูแลความปลอดภัยให้กับคณะครูในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส  ภายหลังเกิดเหตุในพื้นที่ อ.รือเสาะ เมื่อวันที่ 17 พย.ที่ผ่านมา
            นายอรรถสิทธิ์  รัตนแคล้ว  ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาสเขต 1 เปิดเผยว่า กรณีเหตุการณ์ที่ อ.รือเสาะ เมื่อวานนี้จะต้องมีการปรับการ รปภ.อีกมาก เนื่องจากตั้งแต่ก่อนเปิดภาคเรียนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายธนน  เวชกรกานนท์  ก็ได้มีการเรียกประชุมกองกำลังในระดับจังหวัด ทั้ง ผบ.ฉก. ตำรวจ ทหาร  โดยให้ลงไปปฎิบัติในระดับอำเภอ ซึ่งตนเองได้ไปร่วมประชุมในระดับอำเภอที่ อ.ยี่งอ ก็พบว่าหน่วยกำลังในพื้นที่ และเครือข่ายอำเภอ ตำรวจ  ได้มีการประสานงานเตรียมความพร้อมกันอย่างดี แต่ในที่ประชุมของ อ.รือเสาะ ที่ตนเองก็ได้เดินทางไปร่วมประชุมวางแผนด้วยนั้น ตนเองพบว่าความพร้อมในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้ครูยังไม่มี เนื่องจากก่อนหน้าที่จะปิดภาคเรียน ได้มีการถอนกำลังหน่วยพัฒนาออกจากพื้นที่ไป 19  หน่วย  ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจว่ากรณีดังกล่าวทำให้กำลังทหารในพื้นที่มีไม่เพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงในการดูแลรักษาความปลอดภัยครู ก็เป็นสิ่งที่จำเป็น  ซึ่งตนเองได้มองภาพของการทำงาน การประสานงานของหน่วยกำลังในพื้นที่ อ.รือเสาะ นั้น คนมีความกังวลใจเป็นอย่างมาก ยังมีความหละหลวมพอสมควร ซึ่งตนเองนั้นกำลังจะเข้าไปพูดคุยกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่ อ.รือเสาะ มีความเข้มข้นมากกว่านี้  แต่ก็มาเกิดเหตุซะก่อน
              นายอรรถสิทธิ์  รัตนแคล้ว   กล่าวว่า  จุดที่เกิดเหตุเมื่อวานมีคำถามว่า เป็นจุดที่มีการ รปภ.หรือไม่  ก็ปรากฏว่าเป็นจุดที่เกี่ยงกัน ตำรวจก็บอกว่าไม่ใช่ ทหารก็บอกไม่ใช่ ซึ่งความเป็นจริงบริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่เกิดเหตุบ่อยครั้ง ยิงคณะการแสดงช้าง ยิงรถคนสูบส้วม  ระเบิดรถทหาร  ก็เป็นบริเวณดังกล่าว ที่มีเหตุการณ์มาโดยตลอด แต่ทำไมไม่มีมาตรการอะไรมาดูแล เจ้าหน้าที่คงจะต้องมีการปรับการทำงานให้มากกว่านี้ โรงเรียนในพื้นที่ อ.รือเสาะ ที่ทางเขต1นราธิวาสดูแลอยู่มีจำนวน 40 แห่ง เจ้าหน้าที่ทราบดีว่าโรงเรียนตั้งอยู่จุดใด  หน่วยงานต่างๆที่รับผิดชอบก็ควรที่จะดำเนินการดูแลรักษาความปลอดภัย หรือจะชี้แจงให้ครูทราบ อยากให้หน่วยกำลังวางแผนว่าจะให้ครูปฎิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้ครูปลอดภัย ทางครูก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ

              ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาสเขต 1 ยังกล่าวอีกว่า จริงๆแล้วภาพรวมในการดูแลรักษาความปลอดภัยของนราธิวาส ก็ถือว่าดีในระดับหนึ่ง มีเพียงพื้นที่ อ.รือเสาะ เท่านั้นที่ควรจะมีการแก้ไขให้มากกว่านี้ ที่ผ่านมาท่านผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านละหาร ก็ได้ร้องขอกำลังในการดูแลรักษาความปลอดภัยมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการดูแล ฝ่ายเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีกำลังไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่มีภารกิจมากมาย  มีเพียงชุดรปภ.ที่วางจุดตามเส้นทางเท่านั้น แต่ในช่วงเส้นทางที่จะเข้าไปสู่ตัว อ.รือเสาะ นั้น เป็นช่องว่าง  ก่อนหน้านี้ก่อนที่จะมีการถอนกำลัง 19 หน่วยออกนอกพื้นที่ คณะครูก็บอกว่าการดูแลค่อนข้างดี มีความปลอดภัย แต่เมื่อกำลังลดน้อยลง แล้วจะมาบอกว่าไม่มีกำลังเพื่อ รปภ.ครู คงจะไม่ได้ ก็จะต้องหาวิธีการใดวิธีการหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามแนวความคิดในการปิดโรงเรียนนั้น คงจะยังไม่มี/. 

  

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

น้ำใจคนใต้.....ส่งถึงพี่น้องผู้ประสบภัย



             กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ปล่อยคาราวานสิ่งของบริจาคช่วยน้ำท่วม ของชาวไทยมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
            เมื่อวันที่ 16 พย.54 เวลา 09.00 น. ที่ศาลาพิณประเสริฐ หน้าอาคารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี   เจ้าหน้าที่ทหารกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 152 ได้ร่วมกันลำเลียงสิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่ม อาหารแห้ง จำนวนมาก ที่ได้รับบริจาค จากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ขึ้นบนรถบรรทุกจำนวน 21 คัน  เพื่อนำส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร
            

               พ.อ.ปราโมทย์  พรหมอินทร์  หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า  สำหรับสิ่งของที่ได้รับบริจาคในครั้งนี้ เป็นสิ่งของที่พี่น้องประชาชนชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ร่วมกันบริจาค ซึ่งได้รวบรวมเอาไว้ตามศูนย์มัรกัส จำนวน 21 แห่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ที่จะนำไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในครั้งนี้  โดยสิ่งของทั้งหมดจะลำเลียงทางรถไฟ แล้วจะไปรวมกันที่สถานีรถไฟสามเสน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบอุทกภัยต่อไป
            

     พ.อ.ปราโมทย์  พรหมอินทร์   กล่าวว่า  สำหรับสิ่งของที่ได้รับบริจาคครั้งนี้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ ที่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร จึงได้ร่วมกันบริจาคสิ่งของเป็นจำนวนมากดังกล่าว  นอกจากนั้นก่อนหน้านี้ทางพี่น้องชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ยังได้ร่วมกันบริจาคเงินกว่า 1 ล้านบาท ให้กับท่านพลเอก ประยุทธ์จันทร์โอชา  ผู้บัญชาการทหารบก  เพื่อนำไปช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ด้วย/.


วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

น้ำใจคนใต้....ไม่หมดสิ้น


ศอ.บต.ส่งครัวอาหารฮาลาล จากจังหวัดชายแดนภาคใต้  พร้อมปรุงสดจำนวน 8,000 ชุดไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง

            เมื่อวันที่ 11 พย.54 เวลาประมาณ 13.30 น. ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  นายประมุข ลมุล  รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้   เป็นประธานในการปล่อยคาราวานครัวอาหารฮาลาล จากจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยมีเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร   ประชาชน  พร้อมกับอาหารฮาลาลอีกจำนวนหนึ่ง  เพื่อเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง
            



นายประมุข ลมุล  รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า  หลังจากที่พื้นที่ภาคกลางได้ประสบปัญหาอุทกภัย มีน้ำท่วมสูงในพื้นที่มาเป็ฯระยะเวลานานับเดือน  ส่งผลกระทบให้เกิดความสูญเสียทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  และสังคม ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าว  ทาง ศอ.บต.ได้ร่วมกับเครือข่ายคณะกรรมการจัดการแสดงและจำหน่ายสินค้าของดีจังหวัดชายแดนภาคใต้  พร้อมกับ เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ประชาชน และอาหารฮาลาล อีกจำนวน  8,000 ชุด ไปจัดตั้งครัวอาหารฮาลาลพร้อมปรุงสด  ชาชัก  ณ ศูนย์อพยพผู้ประสบอุทกภัย  กรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ 12 – 13 พย.54  เพื่อทำอาหารแจกจ่ายเลี้ยงแก่ผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้
            นายประมุข ลมุล  เผยอีกว่า  นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ ภาคเอกชน  ยังร่วมกันบริจาคสิ่งของ  อาหารทะเล  เสื้อผ้า  ซึ่งจะได้นำไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ด้วย โดยคาราวานครัวอาหารฮาลาล จะเดินทางในวันที่
11 พย.54 และเริ่มดำเนินการทันทีเมื่อไปถึง/.


ผู้ว่าฯ ยะลา นำเงินบริจาคกว่า 2 ล้านบาท พร้อมสิ่งของไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย



ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นำเงินบริจาคกว่า 2 ล้านบาท  พร้อมปล่อยขบวนรถน้ำใจชาวยะลา  เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่หนองแขม กทม.
            เมื่อวันที่ 11 พย.54 เวลาประมาณ 09.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดยะลา   นายกฤษฎา  บุญราช  ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา  พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ  องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา   ภาคเอกชน  ได้ร่วมกันปล่อยขบวนรถขนสิ่งของ  เครื่องอุปโภค  บริโภค  น้ำดื่ม  และอาหารสำเร็จรูป เพื่อเดินทางไปยังพื้นที่หนองแขม กรุงเทพมหานคร  ในการร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอยู่ในขณะนี้
            

โดยนายกฤษฎา  บุญราช  ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา  ได้เปิดเผยว่า  หลังจากที่จังหวัดยะลา ได้เปิดศูนย์รับบริจาคเงิน  และสิ่งของในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง  ซึ่งมีประชาชน ในพื้นที่ทุกหมู่เหล่า  ทุกศาสนา  ได้ร่วมกันบริจาคเงิน  สิ่งของ เครื่องอุปโภค บริโภค  อาหาร  และน้ำดื่ม  โดยหลังจากเปิดรับบริจาค ก็ได้ยอดเงินในจำนวน 2,343,015 บาท  ซึ่งบัญชีดังกล่าว ยังไม่ปิดทำการและยังคงเปิดรับบริจาคอย่างต่อเนื่อง  โดยจำนวนยอดเงินที่ได้กว่า 2 ล้านบาทนั้น  จะมีการนำไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยอยู่ในขณะนี้  โดยทางจังหวัดยะลา จะมีการไปตั้งครัวน้ำใจชาวยะลา  ในเขตพื้นที่สำนักงานเขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร  และจะจัดทำอาหารกล่อง สำหรับชาวมุสลิมในพื้นที่ดังกล่าวจำนวนวันละ 3,000 กล่อง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 พย.54 ไปจนถึงวันที่ 30 พย.54  นี้
            
ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ซึ่งการเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้  ก็ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา  สำนักงานจังหวัดยะลา  ประชาชนในพื้นที่  รวมถึงภาคเอกชน  ที่นำเงินมาร่วมบริจาคเพื่อนช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยที่ประสบภัยอยู่ในขณะนี้/.

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เก็บภาพ...ลอยกระทง...ที่ยะลา...มาฝาก...
















ลอย...ลอย...กระทง....



ลอย.....ลอย....กระทง.....

.......ค่ำคืนนี้.......เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง สำหรับประเพณี  เทศกาลลอยกระทง.....

........แม้ว่า...สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้......จะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง....

....สร้างความหวาดกลัว ให้กับประชาชนในพื้นที่อยู่ทุกวี่วัน....  แต่....ก็มิได้ลดความพยายาม

...............ในการสืบสานประเพณี  วัฒนธรรมอันดีงามของไทย  ทีี่มีมาแต่ครั้งโบราณกาล....


......ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  จึงได้จัดกิจกรรม  ในการส่งเสริมการประดิษฐ์

กระทงสวยงาม  จากวัสดุธรรมชาติ  ให้กับ นักเรียน  นักศึกษา  เยาวชน และประชาชนทั่วไทย  

เพื่อเป็นการสืบสาน และอนุรักษ์ประเพณีอันดีงาม....ของไทย......อีกทั้ง ยังสามารถนำความรู้ 

มาเสริมสร้างรายได้....ในช่วงเทศกาลลอยกระทง......นี้ด้วย


......ค่ำคืนนี้......คนไทยทั่วทั้งประเทศ  ได้เฉลิมฉลอง  และขอขมาต่อพระแม่คงคา.......

.....แต่คนในเมืองกรุง....อีกหลายจังหวัด....ซึ่งประสบภัยน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้  ไม่รู้จะกล่าวโทษ....หรือ

...จะขออภัยต่อพระแม่คงคา.....ที่ทำให้พื้นดินเมืองไทยได้ชุ่มฉ่ำ.....

...........................เป็นประวัติการในระยะเวลากว่า 50 ปี....ที่คนหลายคนยังไม่เคยได้พบเห็น....ง

วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ยะลาเตรียมไปตั้งครัวน้ำใจชาวยะลา เลี้ยงอาหารผู้ประสบภัยน้ำท่วม




ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา  เปิดศาลากลางรับสิ่งของ และเงินบริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ กทม.  เผยเตรียมนำคนยะลาไปตั้งครัวน้ำใจชาวยะลา ทำอาหารเลี้ยงผู้ประสบภัยในเขตพื้นที่หนองแขม
            เมื่อวันที่ 9 พย.54 เวลาประมาณ 09.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดยะลา  นายกฤษฎา  บุญราช  ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา  เปิดศาลากลางจังหวัดยะลา  เพื่อรับบริจาค สิ่งของ  เงิน  ซึ่งจะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในกรุงเทพมหานคร  โดยมีส่วนราชการ  ภาคเอกชน  นายอำเภอแต่ละอำเภอ  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  ได้พร้อมกันนำสิ่งของ  และเงินมาร่วมบริจาคให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา  นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจังหวัดยะลา  ตั้งโต๊ะเพื่อรับบริจาคเงิน และสิ่งของต่าง ๆ ที่จะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย
            นายกฤษฎา  บุญราช  ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา  กล่าวว่า  ในวันนี้นับเป็นโอกาสดีที่ ส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ ภาคเอกชน ต่าง ๆ ได้นำเงินและสิ่งของมาบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมซึ่งคาดว่าเงินบริจาคที่ได้รับไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมถึงสิ่งของและน้ำดื่มที่ประชาชนในจังหวัดยะลาได้เดินทางมาร่วมบริจาคอีกเป็นจำนวนมาก โดยจังหวัดยะลาได้รับการประสานงานจากกระทรวงมหาดไทยให้เดินทางไปจัดอาหารประกอบเลี้ยงผู้ประสบภัยน้ำท่วมครัวน้ำใจ ชาวยะลา ทุกหมู่เหล่า ที่เขตหนองแขม เป็นเวลา 7 วัน ระหว่างวันที่ 12 18 พ.ย. 54 นี้ โดยขบวนรถจะออกเดินทางจากหน้าศาลากลางจังหวัดยะลา ในวันที่ 10 พ.ย.54 นี้
          ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา  กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า  ในส่วนของชาวยะลา และ ส่วนราชการที่ต้องการเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ สามารถร่วมเดินทางได้ในวันดังกล่าว ซึ่งทางจังหวัดยะลาคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนในจังหวัดยะลาเป็นอย่างดี/.